วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ก้านใหม่ปี 2010 จาก Roddio







บริษัท Daiwa Japan เตรียมเปิดตัวก้านใหม่ Roddio M-Series และ S-Series

ซึ่งแบ่งก้านออกตามความยาวของ Driver ที่นักกอล์ฟต้องการ

S-Series จะเหมาะกับนักกอล์ฟที่แข็งแรงและต้องการ Driver ที่ความยาวรวมไม่เกิน 45 นิ้ว ก้านจะถูกออกแบบให้ส่วน Tip แข็งกว่าปกติ

























M-Series จะเป็นก้านที่ตีง่ายกว่า จะเหมาะกับนักกอล์ฟทั่วไปที่ต้องการความยาว Driver ที่มากกว่า 45 นิ้ว


























พบกับ Roddio รุ่นใหม่เร็วๆนี้

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ก้าน Wedge ของ N.S.Pro รุ่น WV











ก้าน NS Pro WV ก้านสำหรับ เวดจ์โดยเฉพาะจากค่าย Nippon Steel


ก้านจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รุ่นคือ 105 , 115 และ 125 ไม่มีแยก Flex แต่อย่างใด นัยว่าแยกตามน้ำหนักและ Character การตีมากกว่า

- รุ่น 105 น้ำหนักก่อนตัดตาม Spec โรงงานคือ 111.5 กรัม
- รุ่น 115 น้ำหนักก่อนตัดตาม Spec โรงงานคือ 122.5 กรัม- รุ่น 125 น้ำหนักก่อนตัดตาม Spec โรงงานคือ 133 กรัม


หากลองเทียบ Step ก้านดูจะเห็นว่าก้านทั้ง 3 ชนิดไม่ได้ต่างกันเฉพาะน้ำหนักเท่านั้น หากแต่มี Characterแตกต่างกันด้วย ก้านทั้ง 3 แบบจึงเหมาะกับวงสวิง 3 แบบที่แตกต่างกัน ต้องทดสอบครับ

การเลือกเวดจ์

ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงวิธีการเลือกพัตเตอร์ด้วยตนเองซึ่งหวังว่าคงเป็นข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจเลือกพัตเตอร์ได้ง่ายขึ้น ฉบับนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการเลือกเวดจ์(Wedge) หรือเหล็กสั้น ที่มักจะใช้เล่นรอบๆกรีน เวดจ์โดยทั่วไปจะมีองศาตั้งแต่ ประมาณ 45 องศาขึ้นไป จนถึงระดับมากกว่า 60 องศา

การใช้เวดจ์เรามักจะมิได้มุ่งหวังระยะสูงสุดเป็นหลัก แต่สิ่งสมควรมุ่งหวังเป็นอย่างมากคือความแม่นยำนั่นเอง

องศาเท่าไหร่ดี

การเลือกองศาของเวดจ์ขึ้นอยู่กับระยะที่คุณต้องการเป็นหลัก อาทิเช่น หากคุณตี Pitching Wedge( 47 องศา) ได้ระยะประมาณ 120 หลา และ ตี Sand Wedge(56 องศา) ได้ระยะประมาณ 90 หลา คุณอาจจะต้องการเวดจ์ที่มีองศาประมาณ 50 องศาเพื่อการตีเต็มวงในระยะ ประมาณ 105 หลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่จำเป็นเสมอไป เนื่องจากยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายอย่างที่มีผลกับระยะ ซึ่งเราจะต้องพิจารณาร่วมกัน

อาทิเช่น ลักษณะของ Groove หรือร่องบริเวณหน้าเหล็ก โดยมากมักจะถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่ม Back Spin เพื่อทำให้ลูกกอล์ฟที่ถูกตีออกไปมี ระยะและทิศทางที่แน่นอน แต่ Back Spin ที่สูง ก็มีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือมักจะทำให้ระยะที่ได้สั้นลงกว่าปกติ ดังนั้นอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกองศาของเวดจ์นั้นๆให้ชันกว่าปกติประมาณ 1 ถึง 2 องศา เพื่อชดเชยระยะที่มักจะสูญเสียไปจาก Back Spin ที่สูงขึ้น

Bounce เท่าไหร่ดี

Bounce หรือมุมกระดอนที่บริเวณ Sole เป็นมุมบริเวณด้านใต้ของใบเวดจ์ โดยจะมีตั้งแต่องศาต่ำๆ ตั้งแต่ 2 ถึง 4 องศาไปจนถึงองศาสูงๆประมาณ 15 องศา มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ใบเวดจ์ขุดลึกเกินไปในพื้นที่อ่อนนุ่ม เช่นการตีบนทรายละเอียดบริเวณรัฟ(Rough) หรือหญ้ายาว มักจะต้องการ Bounce ที่มีองศามาก ส่วนการตีในพื้นแข็งมักจะต้องการ Bounce ที่มีองศาน้อย เพื่อไม่ให้ Bounce ทำงานมากเกินไป จนทำให้เกิดการตี Top (การตีไปที่ส่วนบนของลูก)

วิธีการดูเบื้องต้นว่า Bounce มากหรือน้อย อาจจะใช้การจรดเวดจ์กับพื้นและดูระยะห่างระหว่าง Leading Edge(ขอบล่างสุดของใบ) กับพื้น หากเวดจ์เกือบจะแนบไปกับพื้นเลย เราจะเรียกว่า Bounce ต่ำ ยิ่งมีระยะห่างมาก แสดงว่า Bounce ยิ่งสูงขึ้น จริงๆแล้วมีเครื่องมือที่สามารถที่จะวัดค่า Bounce ออกมาได้ เช่นกัน

นอกจากนี้ลักษณะการสวิงลูกก็มีผลกับการเลือก Bounce ด้วย เช่น นักกอล์ฟที่วงสวิงยิ่งชัน มักจะยิ่งต้องการ Bounce ที่มาก นอกจากนี้การจรดลูกโดยการเปิดหน้าเหล็กก็เป็นการเพิ่ม Bounce ขึ้นเช่นกัน



ก้านอะไรดี

สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ลักษณะใบของเวดจ์คือก้านนั่นเอง

ก้านยอดนิยมใช้สำหรับเวดจ์ที่เรามักจะพบเห็นเสมอคือ True Temper Dynamic Gold และปัจจุบันมีก้านที่น่าสนใจสำหรับเวดจ์ที่น่าสนใจอีกหลายแบรนด์เช่น RIFLE SPINNER ,KBS และ N.S. PRO WV

  • ก้าน Dynamic Gold และ KBS เป็นก้านที่ให้ความรู้สึกนุ่มและหนักแน่น
  • ก้าน Rifle Spinner เป็นก้านที่เหมาะกับการเล่น รอบๆ กรีน แต่มักจะสูญเสียระยะไปบ้างในการตีเต็มวง
  • ก้าน N.S.Pro WV คือก้านที่ออกแบบสำหรับแต่ละวงสวิงในเวดจ์โดยเฉพาะ ให้ความรู้สึกเบาแต่แม่นยำ

การเลือกก้านสำหรับเวดจ์มักจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการเลือกก้านพัตเตอร์กล่าวคือ ควรจะใช้ก้านที่มีความรู้สึกที่ดีเป็นหลัก และก้านดังกล่าวมักจะเป็นก้านเหล็ก(STEEL SHAFT)

ควรจะเลือกก้านที่มีน้ำหนักใกล้เคียงหรือหนักกว่าก้านของชุดเหล็กเล็กน้อย ที่สำคัญคือใน เวดจ์ แต่ละอัน ควรจะใช้ก้านชนิดเดียวกัน และรุ่นเดียวกัน ส่วนจะเป็นรุ่นใดนั้นขอให้ทดลองตีดูความรู้สึกเป็นสำคัญ

ใบเวดจ์แบบใดดี

การออกแบบใบเวดจ์ในปัจจุบันมีหลายหลายลักษณะตั้งแต่การใช้วัสดุ Stainless Steel และผลิตโดยวิธี Cast หรือการหลอมขึ้นรูป ไปจนถึงการใช้เหล็กอ่อน Soft Carbon Steel และผลิตด้วยวิธี Hand Made Forging นอกจากนี้ยังมีการออกแบบหน้าเหล็ก และการชุบเคลือบพื้นผิวที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น Chrome และ Gun Metal เป็นต้น

หากไม่สามารถทดลองได้ ขอให้ทดลองจรดลูกและให้เลือกรุ่นที่จรดแล้วมั่นใจที่สุด กล่าวคือไม่ควรจะมีรู้สึกแปลกเกิดขึ้น ในขณะจรดลูก เช่นใบไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป รูปทรงไม่รู้สึกขัดหูขัดตา เป็นต้น

กริพสำหรับเวดจ์

กริพสำหรับเวดจ์ นอกจากจะเลือกใช้ขนาดที่เหมาะสม จับถนัดมือแล้ว ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนอยากให้เลือกใช้กริพแบบกลม (Round Grip) หรือกริพที่ไม่มีแนว สันใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากการเล่นลูกสั้นมักมีการจรดลูกโดยเปิด และ ปิดหน้าเหล็ก เสมอ กริพแบบกลมจะทำให้ผู้เล่นจับกริพถนัดในทุกสถานการดังกล่าว

จะใช้เวดจ์กี่อันดี

ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่ทราบว่าควรจะใช้เวดจ์กี่อันดี ผู้เขียนอยากให้เริ่มต้นที่เวดจ์ 2 อัน คือ Bounce สูง และ Bounce ต่ำก่อน เพื่อการเล่นที่หลากหลายรอบกรีน

  • ถ้าตีบนพื้นที่นุ่มเช่น ทรายอ่อน หรือ รัฟ ขอให้ใช้เวดจ์ Bounce สูง
  • ถ้าตีบนพื้นที่ไม่นุ่ม เช่น ทรายแข็ง หรือบนแฟร์เวย์ ขอให้ใช้เวดจ์ Bounce ต่ำ

มีนักกอล์ฟหลายคนที่เสีย Stroke โดยไม่จำเป็น เพียงเพราะเลือกใช้ Bounce ผิดเท่านั้นเอง

หลังจากได้เวดจ์ที่ต้องการแล้ว อาจจะต้องมีการ ตรวจเช็คและปรับแต่ง Loft / Lie Angle อีกครั้ง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เป็นอันเสร็จสิ้นการเลือกเวดจ์ แล้วพบกันใหม่ครับ

การเลือกชุดเหล็ก

หากแบ่งแยกอุปกรณ์กอล์ฟในถุงออกมาเป็นกลุ่มๆ เชื่อเหลือเกินว่าอุปกรณ์กอล์ฟกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดมักจะเป็นชุดเหล็ก(IRON SETS) เสมอ คิดแล้วเป็นประมาณ 40 ถึง 60 เปอร์เซนต์ ของไม้กอล์ฟในถุงเลยทีเดียว ชุดเหล็กจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุปกรณ์อื่นๆ หากท่านผู้อ่านทดลองเดินชมไม้กอล์ฟสำเร็จรูปตามแหล่งต่างๆ จะพบชุดเหล็กมากมายหลายแบบ ฉบับนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงวิธีการที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านตัดสินใจเลือกชุดเหล็กได้ง่ายขึ้น โดยมุ่งหวังให้ท่านผู้อ่านถือ นิตยสาร Swing ฉบับนี้ ไปเป็นข้อมูลมองหาชุดเหล็ก ตามแหล่งต่างๆได้เลย

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน เป็นช่วงที่ผู้เขียนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษา และเลือกหาอุปกรณ์ของตนเอง อีกทั้งเข้าร้านถอดไม้ ประกอบไม้เป็นน้ำหนักโน้นน้ำหนักนี้เป็นว่าเล่น เรียกได้ว่าไม้กอล์ฟของผู้เขียน ณ เวลานั้น อยู่ในร้านนานกว่าอยู่ในสนามกอล์ฟเสียอีก มีอยู่วันหนึ่งไม้กอล์ฟที่ประกอบมาให้ผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน ผู้เขียนจึงสอบถามไปทางช่าง ได้รับคำตอบว่า “ไม่ต้องทำสวยหรอกครับ เดี๋ยวยังไงพี่ก็มาถอดอยู่แล้ว” เป็นอย่างนั้นไปเสีย

ยุคนั้นก้านยอดนิยมคือก้าน Rifle (เป็นของบริษัท Precision สมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันถูกบริษัท True Temper ซื้อกิจการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) นอกจากนั้นถ้าเป็นก้านเหล็กก็มักจะเป็นก้าน Dynamic Gold เรียกได้ว่าเลือกเอาหนึ่งในสองก้านนี้ ประมาณนั้น เรียกว่ายุคนั้นใครใช้ก้าน Rifle จะดูเท่ดูดีไม่แพ้นักกอล์ฟที่ใช้ก้าน Project X หรือ KBS ในสมัยนี้

จำได้ว่าผู้เขียนใช้ชุดเหล็กญี่ปุ่นแบรนด์หนึ่งซึ่งมีก้าน Rifle 6.0 ประกอบให้มาเลย ตีเหล็กสั้นได้ระยะดีมาก แต่เหล็กยาวไม่ค่อยได้ระยะ กล่าวคือ เหล็ก 3 ,4 และ 5 ระยะใกล้เคียงกันมาก แทบไม่เห็นความแตกต่าง

ในกรณีดังกล่าวข้างต้นมีทางเป็นไปได้สองกรณีครับ กรณีแรกคือ ก้านแข็งเกินไป ส่วนกรณีที่สองคือใบเหล็กตียากเกินไปสำหรับคนคนนั้น ในขณะนั้นผู้เขียนพบว่าทั้งสองข้อร่วมกันก่อเหตุครับ

ใบเหล็กแบบไหนดี

มีใบเหล็กมากมายหลายแบบ หลายทรง มีผู้จำแนกออกมาได้หลายประเภท ผู้เขียนแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆคือ

  1. Blade หรือ Muscle Back
  2. Half Cavity Back
  3. Cavity Back

ใบ Blade จะเป็นใบแบบที่ไม่มีโพรงด้านหลัง ใบ Cavity Back จะเป็นใบแบบที่มีโพรงด้านหลังอย่างชัดเจน ส่วน Half Cavity Back จะอยู่ระหว่างกลาง ขอให้ดูภาพประกอบครับ

ความยากง่ายในการตีก็เป็นไปตามลำดับ คือเหล็ก Blade จะตียากที่สุด ในขณะที่เหล็ก Cavity Back จะตีง่ายที่สุด แต่หากตีโดนกลาง Sweet spot เหมือนกัน มักจะพบว่าเหล็ก Blade มักจะตีได้แม่นยำกว่า กล่าวคือมีค่า Short Dispersion หรือ กลุ่มของลูกกอล์ฟ ค่อนข้างใกล้เคียงกันมากกว่า อาทิเช่น ถ้าคุณตีเหล็กเบอร์ 8 ของใบเหล็กแบบต่างๆ โดน Sweet spot ทุกครั้ง ได้ระยะ 150 หลา ประมาณ 4-5 ลูก นำผลงานมาเปรียบเทียบกัน มักพบว่าเหล็ก Blade จะตีได้เป็นผลงานที่เป็นกลุ่มก้อนมากกว่า โดยระยะที่ได้ และ ทิศทางค่อนข้างมีความแน่นอนสูง แต่สิ่งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความยากในการเล่นที่เพิ่มขึ้น นักกอล์ฟหลายท่านมักพบว่าเหล็กแบบ Cavity Back หรือ Mid Cavity Back มักจะตีได้ง่ายกว่า และไม่จำเป็นต้องเข้าสนามฝึกซ้อมบ่อยนัก

นอกจากนี้กรรมวิธีการผลิตก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน วิธีการผลิตใบเหล็กที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมีสองแบบคือ

  • Casting หรือวิธีการหล่อ กล่าวคือการหลอมโลหะให้ละลายแล้วนำไปเทเข้าแม่แบบ จากนั้นจึงทำให้เย็นลง

    วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ถือว่าทำง่ายกว่าวิธีอื่นๆ สามารถใช้เวลาน้อย และทำใบเหล็กได้ออกมาจำนวนมาก เหล็กแบบนี้มีข้อดีคือราคามักจะไม่สูงมากนัก แต่จำเป็นต้องควบคุมการผลิตให้ดีเพราะสิ่งเจือปนจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเหล็กง่ายมาก

  • Forging หรือวิธีการปั๊มจากก้อนวัสดุ วิธีนี้ทำให้ภายในเนื้อเหล็กสะอาด เพราะไม่มีโอกาสที่สิ่งเจือปนจะเล็ดรอดเข้ามาได้เลย ข้อเสียของวิธีนี้อยู่ในขั้นตอนการผลิต กว่าคือมีหลายขั้นตอนที่จะต้องใช้คนเข้ามาทำงานแทนเครื่องจักร ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการผลิต อีกทั้งโลหะที่สามารถนำมาผลิตด้วยวิธีนี้ได้ต้องเป็นโลหะอ่อนซึ่งมักมีราคาสูง

ผู้เขียนขอให้หลักการเลือกใบเหล็กไว้ดังนี้ครับ

1. หลังจากทดลองจรดลูกแล้ว แบบไหนมั่นใจที่สุด ให้พิจารณาแบบนั้นก่อน

2. ถ้าสามารถทดลองได้ ขอให้เลือกลักษณะใบ แบบที่โดน Sweet spot ได้ง่ายที่สุด

3. เหล็กแบบ Forged มักจะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า แต่สนนราคาก็มักจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน วิธีการคือขอให้คุณทดลองตีเหล็กทั้งสองแบบ (เหล็ก Forged ส่วนใหญ่มักจะเขียนคำว่า “Forged” ที่ใบเหล็ก) เหล็ก Forged มักจะตีแล้วได้ความรู้สึกที่ดีกว่า แต่ถ้าคุณไม่เห็นความแตกต่างหลังจากทดลองตี เก็บเงินในกระเป๋าไว้ แล้วใช้ของถูกดีกว่าครับ

ก้านอะไรดี

อย่างที่เราทราบกัน ก้านไม้กอล์ฟถือเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญมากของการ Custom Fitting หลังจากได้ใบเหล็กแล้ว ผู้เขียนจะจำแนกวิธีการเลือกก้านของชุดเหล็กออกเป็น น้ำหนักของก้าน และ ความแข็งของก้าน

น้ำหนักที่เหมาะสมของก้าน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและจังหวะการตีครับ ต้องเป็นน้ำหนักก้านที่ทำให้จังหวะการตีดี โดยไม่ไปลดความเร็วของวงสวิงจนเกินไป พูดให้ง่ายกว่านั้นคือขอให้เลือกน้ำหนักที่พอดีกับคุณ คือไม่เบาเกินไปจนไม่รู้สึกอะไรเลยเวลาสวิง และไม่หนักเกินไปจนยกแทบไม่ไหว

ความแข็งของก้านถ้าไม่มีเครื่องมือวัดเฉพาะ ขอให้เลือกตามระยะที่ตีได้ครับ(จากการตีเหล็ก 8 เต็มวงโดยประมาณนะครับ)

  • ได้ระยะ 100 หลาใช้ Flex Lady (L)
  • ได้ระยะ 115 หลาใช้ Flex Amateur (A)
  • ได้ระยะ 130 หลาใช้ Flex Regular (R)
  • ได้ระยะ 145 หลาใช้ Flex Stiff (S)
  • ได้ระยะ 160 หลาใช้ Flex Extra Stiff (X)

เป็นข้อมูลเบื้องต้นนะครับ จากประสบการณ์ของผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างค่าเฉลี่ยของนักกอล์ฟบ้านเรากลุ่มต่างๆดังนี้

  • นักกอล์ฟเยาวชนที่มีฝีมือ อายุไม่เกิน 10 ปี ก้านเหล็กเบาที่มีการดีดพอสมควรอาทิเช่น True Temper M-80
  • นักกอล์ฟสตรีสมัครเล่น มักจะเหมาะกับก้าน Graphite น้ำหนักเบาประมาณ 50ถึง 60 กรัม
  • นักกอล์ฟอาชีพสตรี มักจะเหมาะกับก้านเหล็กเบาที่มีการดีดปานกลางอาทิเช่น NS PRO 950,850,V90 หรือ KBS 90
  • นักกอล์ฟอาวุโสสมัครเล่นมักจะเหมาะกับก้านเหล็กเบาอาทิเช่น TRUE TEMPER M-80
  • นักกอล์ฟอาวุโสมือดีมักจะเหมาะกับก้านเหล็กน้ำหนักปานกลางเช่น NS PRO 950,KBS TOUR,DYNAMIC GOLD SL
  • นักกอล์ฟชายสมัครเล่นมักจะเหมาะกับก้านน้ำหนักปานกลางถึงมาก เช่น KBS TOUR ,Dynamic Gold
  • นักกอล์ฟชายอาชีพมักจะเหมาะกับก้านที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เช่น KBS TOUR(X),PROJECT X,DYNAMIC GOLD
นอกจากนี้ LIE ANGLE ของเหล็ก และขนาดของกริพ ต้องเหมาะสมเช่นเดียวกับอุปกรณ์อื่นๆ แล้วพบกันใหม่ครับ